[ad_1]
ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีมติในการรับรองเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก โดยนับเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4 ของไทย ต่อจาก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี และหากรวมแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเข้าไปด้วย คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจาน เมืองโบราณศรีเทพ จะนับเป็นมรดกโลกแหล่งที่ 7 ของไทย โดยเมืองโบราณศรีเทพได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 3 แหล่ง คือ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ นั้น
เมืองโบราณศรีเทพ เป็นตัวแทนของเมืองโบราณในวัฒนธรรมทวารวดี จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยของคนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนพัฒนาตนเองด้วยการติดต่อกับสังคมภายนอก และรับวัฒนธรรมทางศาสนาจากอินเดียในราวพุทธศตวรรษที่ 7-11 และเรียนรู้การขุดคูน้ำคันดิน ทำเป็นคูเมือง กำแพงเมือง และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พบหลักฐานสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างชุมชนดั้งเดิมในวัฒนธรรมทวารวดีกับวัฒนธรรมอินเดียตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 การรับศาสนาพราหมณ์และพุทธทั้งแบบเถรวาทและมหายาน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 11-12 คือ การเข้ามามีอิทธิพลอย่างถาวรของพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาท มหายาน และศาสนาพราหมณ์ พบหลักฐาน เช่น รูปเคารพ พระพุทธรูป พระนารายณ์ และศาสนสถาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมทวารวดีที่ยังคงความครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะผังเมืองโบราณมีความแตกต่างไปจากผังเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีเมืองอื่นๆ ที่พบในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอัตลักษณ์ของตนเองตั้งแต่ลักษณะการวางผังเมืองที่มีลักษณะเป็นเมืองแฝดหรือเมืองขยาย คือ “เมืองใน” และ “เมืองนอก” พบหลักฐานงานศิลปกรรมใน “สกุลช่างศรีเทพ” ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัว ได้รับการยกย่องจากนักวิชาการเรื่องเทคนิคงานช่างเมืองศรีเทพ ที่กล้าสร้างประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง โดยไม่มีแผ่นโค้งด้านหลังรองรับ นิยมการยืนท่าตริภังค์ อันแสดงให้เห็นเสมือนการเคลื่อนไหว ซึ่งต่างจากประติมากรรมในแหล่งอื่นๆ ในระยะเวลาเดียวกัน มีอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-14
เมืองโบราณศรีเทพ ยังคงปรากฏหลักฐานความเป็นเมือง คือ มีคูเมือง กำแพง ประตูเมือง ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ พบโบราณสถานมากกว่า 112 แห่ง ที่สร้างเนื่องในพระพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาท มหายาน และศาสนาพราหมณ์ ปัจจุบันมีโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งบูรณะแล้วเสร็จ จำนวน 45 แห่ง ที่สำคัญเช่น โบราณสถานเขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง และยังมีโบราณสถานอีกกว่า 60 แห่ง ที่รอดำเนินการ
โบราณสถานเขาคลังนอก ได้รับอิทธิพลทั้งรูปแบบและแนวความคิดในเรื่องของมณฑลจักรวาลหรือศูนย์กลางจักรวาลของพุทธศาสนามหายานจากศิลปะอินเดียภาคใต้ และศิลปะชวาภาคกลาง จากประเทศอินโดนีเซีย และพัฒนามาเป็นรูปแบบเฉพาะของตนเอง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในรูปแบบของศิลปะทวารวดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และแสดงแนวความคิดเรื่องมณฑลจักรวาล ตามคติความเชื่อของท้องถิ่นที่แตกต่างไปจากมณฑลจักรวาลที่พบทั้งในอินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และเมียนมา
โบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ อยู่ห่างจากเมืองโบราณศรีเทพไปทางทิศตะวันตกราว 15 กิโลเมตร ในแนวแกนเดียวกันกับโบราณสถานเขาคลังนอก ส่วนที่เป็นแกนกลางถ้ำเป็นผนังที่สลักภาพประติมากรรมนูนต่ำรูปพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ จำนวนประมาณ 7 องค์ ทั้งหมดจัดอยู่ในศิลปะทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 นับเป็นตัวอย่างของศาสนสถานประเภทถ้ำที่แสดงให้เห็นถึงคติความเชื่อของพุทธศาสนามหายาน และภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งเดียวที่พบในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ 20-24 ก.ย. นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการ เรื่อง ศรีเทพกับมรดกโลก ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2566-14 ม.ค. 2567 เพื่อเผยแพร่เรื่องราว คุณค่า และความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพ ให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพเป็นมรดกโลกในครั้งนี้ด้วย
[ad_2]
Source link