Thursday, 12 September 2024

วัดนางกุย ที่เที่ยววัดอยุธยา เกี่ยวอะไรกับนางกุยในละครพรหมลิขิต

[ad_1]

รู้จัก วัดนางกุย อยุธยา วัดเก่าแก่สร้างในสมัยอยุธยา มีอายุกว่า 400 ปี ไปกราบบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรหลวงพ่อยิ้ม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 

เที่ยววัดอยุธยากันที่ วัดนางกุย วัดเก่าแก่ของอดีตเมืองหลวงไทย สร้างมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เป็น 1 ในโครงการไหว้พระ 9 วัด ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอยุธยา ถ้าใครไปเที่ยวไหว้พระ 9 วัด อยุธยา ก็จะได้กราบบูชาขอพรองค์พระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบริเวณวัดนางกุย ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น เรามีรายละเอียดเกี่ยวกับ วัดนางกุย มาฝากกัน 

วัดนางกุย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ที่กระแสละคร พรหมลิขิต กำลังมาแรง ก็มีการพูดถึงชื่อ วัดนางกุย ว่าไปละม้ายคล้ายกับ ยายกุย ตัวละครสำคัญในเรื่องด้วย หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า ยายกุย ในพรหมลิขิต มีความเกี่ยวข้องอะไรกับวัดนางกุยหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ช่วงเวลาในละครที่ยายกุยมีชีวิตอยู่ คือสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 ซึ่งทรงครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. 2251 ขณะที่วัดสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2130 ระยะเวลาห่างกันถึง 121 ปี หากเทียบแล้ว วัดนางกุย เกิดขึ้นก่อน ยายกุย ในละครหลายสิบปีเลยทีเดียว

วัดนางกุย

ภาพจาก : ch3plus.com

วัดนางกุย

ภาพจาก : ch3plus.com

วัดนางกุย

ภาพจาก : ch3plus.com

วัดนางกุย ที่ตั้งและประวัติ

วัดนางกุย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่เลขที่ 30 หมู่ 5 ตำบลสำเภาล่ม อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่นอกเกาะเมือง ด้านใต้ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก 

วัดนางกุย

จากหลักฐานของกรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่า วัดนางกุย สร้างในปี พ.ศ. 2130 สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 1 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2190 โดยผู้สร้างชื่อ นางกุย สตรีผู้ที่มีทรัพย์สินเงินทอง ได้มาสร้างวัดนี้ไว้ทางด้านทิศใต้ของเกาะเมืองอยุธยาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน วัดนี้ในอดีตเจริญรุ่งเรืองมาก ดูจากหลักฐานที่มี อาทิ พระพุทธรูปศิลาปางสมาธิ สมัยทวารวดี ประมาณพุทธศตวรรษ 11-16 (พ.ศ. 1100-1600) 

หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าในปี พ.ศ. 2310 วัดนางกุยได้รับความเสียหายมาก และถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม จนมาถึงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดในอยุธยา (ไม่ทราบปี พ.ศ. ที่แน่ชัด) วัดนางกุยจึงได้รับการบูรณะซ่อมแซมในส่วนต่าง ๆ เช่น อุโบสถ หน้าบันรูปนารายณ์ทรงครุฑ และเสมาคู่ รวมทั้งเจดีย์และพระปรางค์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2484 ปัจจุบันทางวัดได้ทำการขออนุญาตจากกรมศิลปากรในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาด้วย 

สิ่งที่น่าสนใจ วัดนางกุย อยุธยา

พระอุโบสถ

วัดนางกุย มีพระอุโบสถขนาด 13.40 X 23.60 เมตร หันหน้าไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ก่ออิฐฉาบปูน เป็นฐานเขียงยกสูงขนาด 6 ห้อง หลังคาจั่วลดชั้นเดียว ด้านข้างต่อปีกรับด้วยเสาเหลี่ยม 8 ต้น ระหว่างเสาก่อเป็นกำแพงช่องลูกกรง ด้านหน้าก่อมุขลดชั้น ส่วนด้านหลังต่อปีก หน้าบันเป็นลายปูนปั้นเขียนสีรูปนารายณ์ทรงครุฑและลายเครือเถา หน้าบันมุขหน้าเป็นรูปเทพพนมล้อมรอบด้วยลายเครือเถา ช่อฟ้าปั้นปูนลอยตัวรูปนาค โดยรอบอุโบสถตั้งฐานใบเสมา 8 ฐาน บูรณะแล้วเป็นฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งใบเสมาคู่ทำด้วยหินชนวนสีเทา

วัดนางกุย

ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปศิลา สมัยทวารวดี ปางสมาธิ และมีพระพุทธรูปประทับยืน 2 องค์ด้านหลังพระประธาน เชื่อกันว่าองค์จริงเป็นเนื้อสำริด แต่ได้ทำการพอกปูนทับไว้อีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นแม่นางกุยพนมมือทางฝั่งซ้ายของพระพุทธรูปบนชุกชี เล่ากันว่าเป็นรูปปั้นโบราณแต่ดั้งเดิมเลย 

วัดนางกุย

หลวงพ่อยิ้ม

หลวงพ่อยิ้ม พระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้สักทองและลงรักปิดทองอย่างสวยงาม อายุประมาณ 400 ปี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพุทธลักษณะที่สวยงาม พระพักตร์มีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส จึงเป็นที่มาของพระนามว่า หลวงพ่อยิ้ม นั่นเอง จากคำบอกกล่าวเล่าขานของคนเก่าแก่ว่า สมัยก่อน หลวงพ่อยิ้ม ได้ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยามาติดอยู่บริเวณหน้าวัด เจ้าอาวาสและชาวบ้านได้อัญเชิญหลวงพ่อยิ้มไปประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดนางกุย และกลายเป็นพระเก่าแก่อยู่คู่กับวัดมาช้านาน

วัดนางกุย

เดิมที หลวงพ่อยิ้ม ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ บริเวณด้านขวามือของพระประธาน แต่ได้มีการอัญเชิญมาประดิษฐานใหม่ที่วิหารหลังใหม่ที่ตั้งอยู่เยื้องกับพระอุโบสถไปทางซ้ายแทน โดยหน้าวิหารจะมีองค์จำลองประดิษฐานอยู่ด้านหน้า ให้ผู้มากราบไหว้ได้ปิดทองบูชากัน ส่วนองค์จริงจะประดิษฐานอยู่ด้านในภายในตู้กระจกที่ทางวัดจัดไว้  

วัดนางกุย

ภาพจาก kwanchai / Shutterstock.com

คำบูชาหลวงพ่อยิ้ม

ตั้งนะโม 3 จบ

พุทธัง สัตตะ รัตนะ มหาปการัง สรณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สัตตะ รัตนะ มหาปการัง สรณัง คัจฉามิ

สังฆัง สัตตะ รัตนะ มหาปการัง สรณัง คัจฉามิ

ศาลแม่ตะเคียนทอง

ศาลต้นตะเคียนขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่คู่วัดนางกุยมานานกว่า 400 ปี โดยยืนต้นตายเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2540 จากนั้นทางวัดจึงแกะสลักเป็นรูปแม่ตะเคียนทอง และนำมาวางไว้บนตอตะเคียนต้นเดิม เพื่อให้ประชาชนที่ศรัทธามากราบไหว้ขอพรในเรื่องต่าง ๆ

คาถาบูชาพระแม่ตะเคียนทอง

(จุดธูป 5 ดอก ตั้งนะโม 3 จบ)

อิติบูชาจะมะหาราชา สัพพะเสน่หา

อะระหังสัมมา สัมพุทโธมามา

ยาตรายามดี วันชัยมารศรี

สวัสดีลาโภ นะโมพุทธายะ

การเดินทางไปวัดนางกุย

การเดินทางจากเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ไปวัดนางกุย ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล สามารถใช้ถนนไปทางอำเภอเสนา ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางวัดไชยวัฒนาราม จากนั้นขับไปตามเส้นทางถนนเรื่อย ๆ โดยจะเห็นป้ายบอกทางวัดนางกุยเป็นระยะ จากนั้นเลี้ยวไปตามเส้นทางวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งวัดนางกุยจะอยู่ห่างจากวัดพุทไธศวรรย์ประมาณ 2 กิโลเมตร  

วัดนางกุย

ข้อมูลติดต่อวัดนางกุย

  • เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. 

  • ที่อยู่ : 30 หมู่ 5 ตำบลสำเภาล่ม อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

  • พิกัด : วัดนางกุย   

  • โทรศัพท์ : 08-9105-3441, 08-9141-0509

วัดนางกุย นับได้ว่าเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองมากและเป็นวัดที่มีความสำคัญในสมัยอยุธยา เป็นโบราณสถานที่เหมาะสำหรับศึกษาหาความรู้ด้านประวัติศาสตร์และศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีโบราณสถาน โบราณวัตถุหลายชิ้น ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลงานที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ขึ้นและทิ้งไว้ให้ลูกหลาน 

หมายเหตุ : ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรุณาตรวจสอบอีกครั้ง

บทความ เที่ยวอยุธยา วัดอยุธยา อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง



[ad_2]

Source link