Sunday, 6 October 2024

“รมว.ธรรมนัส” ลงพื้นที่เชียงใหม่ เร่งแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้เกษตรกร

[ad_1]

“รมว.ธรรมนัส” ลงพื้นที่เชียงใหม่ เร่งแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้เกษตรกร วางแผนขุดลอก ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ สร้างซ่อมฝายที่ชำรุด สั่งกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาช่วยเหลือพี่น้องชาวเชียงใหม่และเกษตรกร รับปากชาวบ้าน หลังแถลงนโยบาย 11-12 ก.ย. เตรียมผลักดันโครงการเกี่ยวกับน้ำ พร้อมย้ำ “น้ำ” เป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด รับ “ฝายวังหิน เร่งสร้าง อ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ ได้ขุดลอกเพิ่ม”

วันที่ 8 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายอัฏฐวิชย์ นาควัชระ ผู้อำนวยการสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 นายปารเมศ การุณนราพร ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 1 นายณัฐวุฒิ นากสุก ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม นายจรินทร์ คงศรีเจริญ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงใหม่ นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการโครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทานที่ 1 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และบรรยายสรุปความก้าวหน้าโครงการ

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในปี 2563 ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานวิสามัญแก้ปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ภาพใหญ่ถูกศึกษามาแล้วต้องแก้อย่างไร ไม่ใช่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ต้องสอดคล้อง 22 ลุ่มน้ำ ก็นำนโยบายที่ได้มาเข้ามาแจ้งให้กับกรมชลประทานเข้ามาดำเนินการ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขแบบบูรณาการ

“ปัญหาของพี่น้องเกษตรกรปัญหาใหญ่ที่สุดคือ เรื่องน้ำ ถึงแม้จะมีที่ดินแต่ถ้าไม่มีเรื่องน้ำทุกอย่างจบ จึงต้องแก้ปัญหาเรื่องน้ำก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหาที่ดินทำกิน และนำการตลาด โดยมีทีมงานที่มีความรู้ความสามารถที่จะเปิดตลาดไปประเทศมหาอำนาจต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องลำไย และที่ผ่านมาก็พยายามผลักดัน พ.ร.บ.ลำไย ก็จะสานต่อในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องประมง และการเกษตร แล้วขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ตลาดข้าวก็ยังไม่ได้เปิดในประเทศตะวันออก และประเทศมหาอำนาจที่มีประชากรเยอะก็ยังไม่ได้เปิด ประเทศเวียดนามและอินเดียก็หยุดส่งข้าวออกนอกประเทศของเขาเพราะผลผลิตน้อยเนื่องจากภัยแล้ง ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องถือโอกาสแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ และพัฒนาคุณภาพข้าวก็สำคัญที่จะส่งออกนอกประเทศ” รมว.เกษตรฯ กล่าว

ร.อ.ธรรมนัสฯ กล่าวต่อว่า การพักหนี้เกษตรกรถือว่าเป็นวาระสำคัญ เป็นวาระแห่งชาติ ประชุม ครม. นัดพิเศษ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกพูกถึง เนื่องจากเป็นภาพใหญ่ระดับประเทศท่านนายกรัฐมนตรี ก็ห่วงใยว่าควรจะแก้ไขอย่างไร ส่วนราคาผลผลิตไม่นิ่ง ไม่แน่นอน และผู้กำหนดราคาก็เป็นพ่อค้าคนกลาง ที่ผ่านมากลไกของรัฐเราไม่ได้แทรกแซงราคาปล่อยให้พ่อค้าคนกลางเป็นคนกำหนดราคา ปล่อยให้ล้งต่างชาติมาเอาลัดเอาเปรียบเรื่องเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องควบคุม มีกลไกที่ต้องแทรกแซงราคา พยุงราคา ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ

“เรื่องแรกอ่างเก็บน้ำแม่วางจะไปตามเรื่องแก้ปัญหาให้ เรื่องที่สองรองอธิบดีกรมชลประทาน และโครงการชลประทานเชียงใหม่ ได้ชี้แจงแล้วว่าในเรื่องของสถานีสูบน้ำ ทั้งหมด 2 สถาน จะดำเนินการตามงบประมาณในปี 67 สถานีละ 60 กว่าล้านบาทก็อยู่ในแผนงานอยู่แล้ว ทางกรมชลประทานและผมก็จะไปผลักดัน เรื่องที่สาม วันที่ 11 – 12 ก.ย. หลังจากที่มีการแถลงนโยบายเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการตามที่พี่น้องร้องขอทันที ในเรื่องการขุดลอกอ่างเก็บน้ำโป่งจ้อ ให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมอ่างเก็บน้ำสามารถกักเก็บน้ำได้ 2.6 ล้าน ลบ.ม. หากมีการขุดลอกอีก 40,000 ลบ.ม. ก็จะกักเก็บน้ำได้ครบ 3 ล้าน ลบ.ม. พอดี และสามารถที่จะส่งน้ำให้กับพี่น้องเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่อำเภอดอยหล่อได้” ร้อยเอก ธรรมนัสฯ กล่าวกับประชาชน เกษตรกร ในพื้นที่ อ.ดอยหล่อ จอมทอง แม่วาง ที่มาต้อนรับและเสนอปัญหา

ด้าน นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้มีการวางแผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ อาทิ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ความจุอ่างฯ 2.029 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมอาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม และอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 125.74 ลบ.ม./วินาที หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตรในพื้นที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 1,226 ครัวเรือน ช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกฤดูฝน 4,268 ไร่

“นอกจากนี้ยังมี โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ความจุอ่างฯ 25.415 ล้าน ลบ.ม. พร้อมอาคารระบายน้ำลงลำน้ำเดิม และอาคารระบายน้ำล้น (Spillway) ระบายน้ำได้สูงสุด 465.26ลบ.ม./วินาที หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 38,209 ไร่ ในฤดูฝนและ 20,488 ไร่ในฤดูแล้ง โครงการประตูระบายน้ำวังหิน พร้อมระบบส่งน้ำ ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการปรับปรุงประตูระบายน้ำวังหิน พร้อมอาคารประกอบ จำนวน 5 ช่องบานระบายหากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำช่วยเหลือในพื้นที่ บ้านหาดนาค หมู่ที่ 7 บ้านหนองอาบช้าง หมู่ที่ 9 บ้านดงหาคนาค หมู่ที่ 17 และ บ้านพุทธมิตร หมู่ที่ 18 ใช้เพื่ออุปโภคบริโภค จำนวน 1,028 ครัวเรือน ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในช่วงฤดูฝนได้ประมาณ 4,180 ไร่ และในฤดูแล้ง 1,980 ไร่ โครงการปรับปรุงระบบผันน้ำฝายแม่ตื่น – อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสันติสุข อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการปรับปรุงระบบผันน้ำจากฝายแม่ตื่นมาอ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ ด้วยการก่อสร้างรางน้ำ คอนกรีตเสริมเหล็กฝั่งซ้ายความยาว 2,148 เมตร พร้อมติดตั้งท่อเหล็กเหนียว อุปกรณ์ประกอบ และอาคารประกอบ-อาคารรับน้ำ ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 96 หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและพื้นที่การเกษตรกว่า 5,000 ไร่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่อ่างเก็บน้ำห้วยโป่งจ้อ 1.6 ล้าน ลบ.ม./ปี ในช่วงฤดูน้ำหลาก” รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าว

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้สามารถใช้เก็บกักน้ำ เป็นแหล่งน้ำต้นทุน สำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และยังช่วยหน่วงชะลอน้ำในช่วงอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ



[ad_2]

Source link