Sunday, 8 September 2024

นครพนมโมเดล “ไม่ทิ้งเด็กไว้ข้างหลัง” MOU ร่วม 28 หน่วยงาน ค้นหาพัฒนาเยาวชน

[ad_1]

วันจันทร์ ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2566, 17.13 น.

วันที่ 11 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมเวลาดี เขตเทศบาลเมืองนครพนม นายวันชัย จันทร์พร ผวจ.นครพนม เป็นประธานในพิธีประกาศวาระจังหวัดนครพนม พร้อมลงนาม MOU นครพนมโมเดล ร่วมกับ 28 หน่วยงานที่เป็นภาคีเครือข่ายสำคัญ ภายใต้โครงการพัฒนานครพนมโมเดลเพื่อเยาวชนนอกระบบการศึกษา มีสโลแกนว่า “เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กทุกคนต้องได้รับการพัฒนา” โดยมีนายธันญ์สุธี ภัคธารีรัตน์ ศึกษาธิการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า นครพนมโมเดลเริ่มดำเนินการ เมื่อปี 2563  เป้าหมายสนับสนุน พัฒนา ครูและเด็กนอกระบบการศึกษา ในปีดังกล่าวได้ทำงานขับเคลื่อนในสถานพินิจฯนครพนม จนสามารถขยายผลการศึกษาทางเลือกไปสู่สถานพินิจ และศูนย์ฝึกทั่วประเทศไทย จึงเป็นที่มาของคำว่านครพนมโมเดล

ในการนี้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครพนม ได้นำนักเรียนในโครงการฯ ซึ่งอดีตเป็นเด็กแขวนลอย ความหมายคือได้ออกจากการเรียนในระบบปกติกลางคัน แต่ยังมีชื่ออยู่ในระบบการเรียนการศึกษา ชื่อ นายอนุพงศ์ เงินห้วยพระ หรือน้องไมค์ อายุ 19 ปี ชาวบ้านคำฮาก ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ขึ้นเวทีเล่าถึงความรู้สึกที่ได้ถูกนำกลับมาเรียนในโครงการ กระทั่งปัจจุบันน้องไมค์เรียนจบในระดับชั้นมัธยมต้น

น้องไมค์เล่าว่าจากฐานะทางครอบครัวที่ยากจน ประกอบกับพ่อแม่แยกทางกัน ยิ่งทำให้ความเป็นอยู่แร้นแค้นขึ้น เพราะแม่ต้องรับภาระหาเลี้ยงคนทั้งครอบครัว ขณะนั้นตนเรียนอยู่ชั้น ม.1 โรงเรียนมัธยมในตัวอำเภอท่าอุเทน และอยากแบ่งเบาภาระจึงบอกแม่ขอหยุดการเรียน ทั้งที่มีใจรักการเรียนมาก กระทั่งมี น.ส.รัตนา แพงมาลา หรือครูเฟิร์น เจ้าหน้าที่วิชาการและแผนงาน องค์การบริหารส่วนตำบลโนนตาล (อบต.โนนตาล) มาพบที่บ้านพร้อมแนะนำให้เข้ารับการศึกษาต่อ ในรูปแบบการเรียนนอกระบบ โดยใช้พื้นที่ของ อบต.โนนตาลเป็นสถานที่เรียน จึงไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม และหลังจากจบชั้น ม.ต้น แล้ว ก็จะต่อยอดศึกษาต่อในระดับ ม.ปลาย ใฝ่ฝันอยากจะเป็นโปรแกรมเมอร์ ทางโครงการก็ดำเนินการให้เป็นอย่างดี ขณะนี้เรียนไปได้มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ น.ส.รัตนา แพงมาลา หรือครูเฟิร์น เปิดเผยว่า หลังจากรับผิดชอบการค้นหาเด็กแขวนลอย รวมถึงเด็กที่มีปัญหาด้านอื่นๆ พบว่าน้องไมค์มีชื่ออยู่ในระบบการเรียนปกติ จึงไปสอบถามแล้วแนะนำให้เรียนนอกระบบเป็นทางเลือก เพื่อให้จบในระดับ ม.ต้น จะได้นำวุฒิการศึกษาไปสมัครงานในสถานประกอบการต่างๆได้ เนื่องจากมีข้อบังคับว่าพนักงานต้องจบการศึกษาระดับ ม.ต้น เป็นอย่างต่ำ ซึ่งน้องไมค์ตอบตกลงที่จะเรียน กระทั่งจบการศึกษา และทราบจากน้องว่าจะเดินหน้าเรียนต่อจนกว่าจะจบ ม.ปลาย

ทั้งนี้ ภายในงานลงนาม MOU นครพนมโมเดล ทางคณะผู้จัดได้ฉายวีดีทัศน์เปิดเผยเรื่องราวของน้องไมค์ ให้ทั้ง 28 หน่วยงานรับชม ปรากฏว่าน้องไมค์เห็นเรื่องของตนถึงกับหลั่งน้ำตา เพราะเป็นชีวิตจริงของตน และยินดีเผยแผ่ให้กับคนที่ท้อถอยในชีวิต ลุกขึ้นสู้เพื่อไปคว้าชัย

สำหรับโครงการพัฒนานครพนมโมเดล เพื่อเยาวชนนอกระบบการศึกษา ถือว่าเป็นต้นแบบให้อีกหลายจังหวัด อาทิ นครราชสีมา อุบลฯ บึงกาฬ เป็นต้น โดยมีศึกษาธิการจังหวัดนครพนม รับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพหลัก ในการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนทั้งหมด เพื่อสนับสนุนคุณภาพการเรียน และคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชนในจังหวัดฯ โดยสามารถขยายผลการดำเนินงาน จากการแก้ไขปัญหากลุ่มเด็กปลายน้ำ คือ เยาวชนในกระบวนการยุติธรรม คือสถานพินิจฯ เพิ่มขอบเขตในเชิงรุกเพื่อแก้ปัญหาเด็กกลางน้ำ คือเด็กที่ออกกลางคัน และ เด็กตกหล่น

ดังนั้น จึงเกิดแผนปฏิบัติการตำบลต้นแบบ เบื้องต้นที่รวมโครงการคือ อบต.พิมาน อ.นาแก และ อบต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน โดยมีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.นครพนม  ร่วมเป็นกลไกค้นหา พัฒนา ส่งต่อ จนสามารถพาเด็กนอกระบบกลุ่มนี้ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาทางเลือกได้สำเร็จ

นอกจากนี้ยังเพิ่มศักยภาพเป็นแผนปฏิบัติการโรงเรียนมือถือ ใช้อุปกรณ์อีเล็คทรอนิกเข้ามามีส่วนในการเรียนการสอน ให้กับเด็กกลุ่มกลางน้ำ จนสำเร็จการศึกษา และพัฒนาตัวเองเป็นโปรแกรมเมอร์ในเวลาต่อมา

ศึกษาธิการจังหวัดนครพนม กล่าวต่อว่า ด้วยการที่ผลึกกำลังของภาคีเครือข่าย วันนี้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชื่นชมยินดี และโครงการนครพนมโมเดล เป็นโมเดลต้นแบบ ให้ขยายผลการดำเนินการไปสู่จังหวัดอื่น ร่วมทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ได้นำโครงการฯเป็นพื้นที่นำร่องขายไปสู่ 13 จังหวัดภาคอีสาน ภายใต้สโลแกน เพราะเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เด็กทุกคนต้องได้รับการพัฒนา

ในโอกาสเดียวกันนี้ มูลนิธิกระจกเงา ได้รับการสนับสนุน คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ สนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดนครพนม จำนวน 50 เครื่อง ประกอบด้วย 1. สถานพินิจและคุ้มครองเด็กจังหวัดนครพนม 30 เครื่อง 2.อบต.โนนตาล 10 เครื่อง และ 3. อบต.พิมาน 10 เครื่อง
 



[ad_2]

Source link