Thursday, 5 December 2024

คดีกำนันนก และอิทธิพลเถื่อน กับ 3 รูปแบบ ปัญหาคอร์รัปชันในวงการตำรวจ

[ad_1]

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เผย 3 รูปแบบปัญหาคอร์รัปชันในวงการตำรวจ ชี้ คดีกำนันนก เลวร้าย นายกฯ ต้องเร่งสาง แก้ปัญหากระบวนการยุติธรรม…

หลังสิ้นเสียงปืน วิสามัญ “หน่อง” มือปืนที่สังหาร พ.ต.ต.ศิวกร สายบัว สว.ส.ทล.1 กก.2 บก.ทล. เสียชีวิต เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ถึงวันนี้ (11 ก.ย.) ก็ผ่านมาแล้ว 3 วัน ถือเป็นช่วงเวลา รวบรวมหลักฐานเพื่อเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกำนันนก หรือ นายประวีณ จันทร์คล้าย กำนัน ต.ตาก้อง จ.นครปฐม คนที่อยู่ในงานวันเกิดที่เป็นตำรวจที่ให้การช่วยเหลือในการหลบหนี ทำลายหลักฐาน และอื่นๆ จนสังคมตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีการดำเนินคดีกับตำรวจไปแล้ว 6 นาย ฐานให้การช่วยเหลือซ่อนเร้น และทำลายหลักฐาน ถือเป็นการ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” หรือไม่ และถือว่าเป็นการคอร์รัปชันในวงการตำรวจหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องรอดูผลในอนาคต 

หลายคำถามที่คาใจในสังคม หรือแม้แต่คนที่ทำงานในวงการต่อต้านคอร์รัปชันอย่าง ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มองเรื่องนี้ว่า เป็นการสะท้อนปัญหาคอร์รัปชันที่หมักหมมในราชการไทยได้หลายมิติ ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีที่สังคมไทยต้องจับตา โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาต้องเร่งเข้ามาจัดการ โดยเฉพาะสิ่งที่เห็นเลย คือ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะตำรวจบางนายยอมก้มหัวเข้าไปหาพ่อค้า ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ 

“พฤติกรรมแบบนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และมีอยู่ทุกวงการในระบบราชการไทย ซึ่งหากใครให้ความร่วมมือก็มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ หากใครไม่ก้มหัว หรือให้ความร่วมมือ ก็เสียโอกาส ซึ่งบางนายถูกกลั่นแกล้ง แต่…กับกรณีนี้ถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งที่ความจริง วันนั้นการเข้าไปตรงนั้นจะไม่เกิดเหตุการณ์อะไร เพราะมีเพื่อนอาชีพตำรวจอยู่ตรงนั้นอีก 21 คน มีตำรวจน้ำดี ถูกยิงเสียชีวิต แต่กลับไม่มีใครช่วยเขา”

ดร.มานะ พูดทำนองเดียวกับ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร ว่า เคสนี้ถือว่า “เหิมเกริม” และเลวร้ายเกินไป คือ การลงมือฆ่าทันที ซึ่งแตกต่างในอดีต ส่วนมากจะต้องรอคล้อยหลังไปก่อน แล้วค่อยลงมือทำร้าย ส่งคนไปทำร้าย หรือเล่นงานในเรื่องหน้าที่การงาน 

ลักษณะการ “คอร์รัปชัน” ในแวดวงตำรวจ 

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวถึงการคอร์รัปชันในวงการตำรวจว่า แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม 

1.โกงกินบนโรงพัก : แตะตรงไหนก็เป็นเงินทอง มีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เช่น กรณีตำรวจตั้งด่าน, การรีดไถประชาชน หรือ ผู้ประกอบการ, การซื้อขายสำนวนคดี 

“ตำรวจบนโรงพักแต่ละพื้นที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่เท่ากัน บางพื้นที่ได้ประโยชน์จากธุรกิจสีเทา บางพื้นที่มีรายได้จากสถานบันเทิง หรือแม้แต่งานจราจรก็ตาม” 

2.ควบคุมพื้นที่ใช้อำนาจ : ยกตัวอย่าง คือ ตรวจคนเข้าเมือง ในการดูแลตามสนามบิน หรือดูแลพื้นที่ที่จำเป็นต้องขออนุญาต 

3.ระดับศูนย์กลาง : ส่วนนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงบางคน ประเด็นนี้จะอยู่ที่การ “แต่งตั้งโยกย้าย” หรือ การจัดซื้อจัดจ้าง การสั่งการไปยังเครือข่ายของหน่วยงาน เพื่อเอื้อประโยชน์กับนักการเมืองท้องถิ่น ผู้ประกอบการธุรกิจสีเทา เช่น หวย บ่อน การค้าประเวณี 

การวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง สู่ธุรกิจ?  

ดร.มานะ ขยายประเด็นการซื้อขายตำแหน่งในวงราชการตำรวจว่า สมัยก่อนจะเน้นเรื่องวิ่งเต้น เข้าหา เอาอกเอาใจ และถึงเวลาก็อาจจะหาเงินทองมาเสริม แต่ช่วงหลัง เริ่มมีการ “ตั้งราคา” กันชัดเจน ถ้าเป็นระดับผู้นำ สน. หรือ สภ. จะราคาเท่าไร ตั้งแต่ 2, 5 หรือ 10 ล้าน บางพื้นที่เกรดดีๆ มีรายได้ดี คุยกันที่ 40 ล้าน 

“เรื่องนี้มันมีพัฒนาการ ยกตัวอย่างเมื่อ 6-7 ปีก่อน ถึงขั้นมีการจ้างให้ตำรวจลาออก หรือ ขอย้ายเพื่อให้เกิด “หลุม” ซึ่งศัพท์ตำรวจเขาเรียกกันแบบนี้ เพื่อเอา “หลุม” ไปเร่ขาย หรือประมูลราคากันว่าใคร…จะมาลงตรงนี้”

นี่คือพัฒนาการจากการขาย เป็นจ้างให้ออก ใครอยากได้ก็มาประมูลกัน…

นี่คือสิ่งที่ เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้ข้อมูลมา… จากการทำงานผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กลายเป็น การทำงานคล้ายธุรกิจเอกชน

เส้นบางๆ กับปัญหาการใช้อำนาจ 

ดร.มานะ อ้างว่า เคยได้ยินตำรวจระดับสูงหลายนายพูดว่า “ตำรวจมีอำนาจมาก มีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างตำรวจผู้รักษากฎหมาย กับ โจรที่ปล้นชิงชาวบ้าน คนที่เป็นผู้รักษากฎหมาย ก็จะขจัดโจรและดูแลประชาชน ขณะที่บางส่วน กลับใช้อำนาจในทางที่ผิด แถมยังมีอำนาจรอบด้าน ด้วยเหตุนี้เป็นเหตุให้ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล เช่น การสืบสวนสอบสวน การทำคดี ไปรวมศูนย์ และไม่มีคนภายนอกเข้ามาตรวจสอบได้ เช่น อัยการ ทนายความ หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน แม้แต่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ก็ไม่มีอำนาจถ่วงดุล เพราะเขามีอำนาจของตัวเอง” 

เมื่อเกิดปัญหา ทางตำรวจที่ไม่ดี ก็จะช่วยเหลือกัน ทำให้บางเรื่องไม่ถูกเปิดเผยออกมา หากจะเปิดเผยก็เฉพาะเหตุใหญ่ อย่างกรณี กำนันนก หรือก่อนหน้านี้ก็ ผกก.โจ้ 

“เรื่องลักษณะนี้ยังมีอยู่ และทุกวันนี้ก็ยังไม่หายไปไหน”

แนวทางการแก้ปัญหา ตร.ก้มหัวให้อิทธิพลเถื่อน

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ให้ความเห็นว่า ตราบใดที่การแต่งตั้งโยกย้ายยังซื้อ วิ่งเต้นได้ ปัญหาของตำรวจจะไม่มีวันหมดไป และหากยังไม่กระจายอำนาจตำรวจ เพื่อให้ถูกตรวจสอบได้ ถ่วงดุลได้ เช่น แยกงานสอบสวน ปราบปราม ธุรการ กระจายงานที่ไม่ควรเป็นของตำรวจ เช่น ท่องเที่ยว 

“ปัญหาที่เราได้ยินอยู่เสมอ คือ ตำรวจชั้นผู้น้อยที่กำลังเติบโตด้วยระบบนี้ ก็มักจะปกป้องระบบนี้ หรือแม้แต่คนที่กำลังก้าวสู่อำนาจ ก็พยายามรักษาเส้นสายพวกพ้อง ฉะนั้นการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในวงการตำรวจต้องใจแข็ง ไม่เห็นแก่ใคร ซึ่งคดี “กำนันนก” ถือเป็นตัวอย่างเดียวที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส ข้าราชการจำนวนหนึ่งถึงไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ปล่อยให้ข้าราชการชั่วร้าย ไร้เกียรติ กลายเป็นเครื่องมือของคนโกง หรือผู้มีอิทธิพล ทำให้ข้าราชการ หรือตำรวจดีๆ ถูกกลั่นแกล้ง” ดร.มานะ กล่าวและทิ้งท้ายว่า

ทุกคนเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องเลวร้ายมาก จำเป็นที่ นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) ที่เคยประกาศไว้ในวันต่อต้านคอร์รัปชันว่า คอร์รัปชันต้องลดลง บ้านเมืองต้องโปร่งใส และเป็นธรรมในรัฐบาลของท่าน ดังนั้นเรื่องนี้ นายกฯ ต้องเข้ามาดูแลแก้ไขให้ได้ ฉวยโอกาสนี้ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และตำรวจ.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

[ad_2]

Source link